บทที่ 4
ประวัติโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร
โรงเรียนแพทย์โรงเรียนแรกของประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 แต่เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กว่าโรงเรียนแพทย์จะพัฒนาขึ้นจนถึงระดับดีนั้น ใช้เวลานาน เพราะการศึกษาของประเทศไทยในเวลานั้นมีมาตรฐานต่ำกว่าในปัจจุบันมาก เศรษฐานะของประเทศก็ต่ำกว่าปัจจุบันจะเอาภาวะปัจจุบันไปเทียบเคียงไม่ได้
ระบบการรักษาพยาบาลของไทยแต่เดิมรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์แผนโบราณ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าแพทย์แผนไทยนั้น ไม่มีโรงพยาบาล มีแต่พาผู้ป่วยไปหาหมอหรือรับหมอมารักษาผู้ป่วยที่บ้าน ระบบโรงพยาบาลที่มีการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและรับผู้ป่วยไว้รักษาในสถานพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เช่น ที่คุ้นเคยในปัจจุบัน เป็นระบบของแพทย์แบบตะวันตกหรือแพทย์แผนปัจจุบัน เว้นจากโรงพยาบาลของฝรั่งเศสที่กล่าวถึงในพงศาวดารแล้ว ต้องยอมรับว่ามิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงพยาบาลเล็ก ๆ ขึ้นก่อนโรงพยาบาลของราชการไทย
ก่อนมีโรงพยาบาลศิริราชนั้น โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่บ้าง แต่ไม่ถาวร คือทางราชการไทยเคยตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขนาดเล็ก 24 แห่ง เพื่อดูแลผู้ป่วยคราวที่มีอหิวาตกโรคระบาดเมื่อ พ.ศ. 2424 และตั้งโรงพยาบาลทหารหน้า สำหรับดูแลทหาร
โรงพยาบาลของราชการไทยที่ตั้งถาวรแห่งแรกคือ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล คณะกรรมการฯ ขอพระราชทานที่ดินวังหลังที่ร้างอยู่ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 สำหรับสร้างโรงพยาบาล ระหว่างที่กำลังจะสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมรดกสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ให้เป็นทุนสร้างโรงพยาบาล และให้ใช้ไม้ในงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก่อสร้างโรงพยาบาล
คณะกรรมการสร้างโรงพยาบาล
สร้างโรงคนไข้หลังคาจาก 5 โรง รับผู้ป่วยได้ 40 คน
โรงพยาบาลสร้างเสร็จและเปิดรับผู้ป่วยเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.
2431 และต่อมาพระราชทาน
274 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ชื่อโรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล” โรงพยาบาลศิริราชเมื่อแรกสร้างอยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกับโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านในเวลานั้น
มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ตามลำดับดังนี้
1. คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2433 จนถึงปัจจุบัน)
แรกเปิดโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลไม่ค่อยมีคนไข้ เพราะประชาชนยังไม่นิยมมาโรงพยาบาล แพทย์ประจำโรงพยาบาลก็ไม่มี มีแต่แพทย์ที่ปรึกษาเท่านั้น คณะกรรมการฯ จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งโรงเรียนแพทย์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2432 (นับแบบปัจจุบันคือ พ.ศ. 2433) โดยจ้าง นพ.ที. เฮวาร์ด เฮย์ มาเป็นครูสอนวิชาแพทย์ โรงเรียนแพทย์เปิดสอนวันแรกวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 รับนักเรียนความรู้อ่านออกเขียนได้ หลักสูตร 3 ปี และเรียกว่า โรงศิริราชแพทยากร หรือโรงเรียนแพทยากร นายแพทย์เฮย์ ไม่รู้ภาษาไทย นักเรียนก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำให้ลำบากในการสอนมาก นพ.เฮย์ จึงเขียนจดหมายไปชวนนายแพทย์ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งเรียนสำเร็จแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ให้มาสอนแทน นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์เข้ามาเป็นอาจารย์ศิริราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 (2435)
โรงเรียนแพทยากรเวลานั้นมีการสอนทั้งวิชาแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน หม่อมเจ้าเจียก ทินกร เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายแพทย์แผนไทย นายแพทย์ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายแพทย์แผนปัจจุบัน นายแพทย์ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ เป็นบุตรของมิชชันนารี เกิดที่ธนบุรี อยู่กับบิดามารดาที่เพชรบุรีจนโต เข้ามาเรียนที่โรงเรียนนันทอุทยาน ธนบุรี ซึ่งบิดาเป็นครูใหญ่ จบหลักสูตรซึ่งเทียบได้กับหลักสูตร High School แล้วจึงไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ดร.แมคฟาร์แลนด์รู้ภาษาไทยดีมาก จึงทำการสอนได้ผลดี ท่านเป็นครูคนเดียว จึงสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันทุกวิชา ท่านเป็นแพทย์คนเดียวของโรงพยาบาลศิริราช จึงต้องรักษาผู้ป่วยทุกคนทุกโรค
โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศิริราชพัฒนาขึ้นตามลำดับ มีครูเพิ่มขึ้น มีหมอเพิ่มขึ้นทั้งจากแพทย์ชาวต่างประเทศ แพทย์ไทยที่จบต่างประเทศ และศิษย์ศิริราชาที่ทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านหลังเรียนจบแล้วทำงานอยู่ในแผนกต่าง ๆ จนได้เป็นอาจารย์ ครูคนสำคัญรองจากนพ.แมคฟาร์แลนด์คือ นพ.แฮน อดัมเสน ที่เข้าสอนสูติศาสตร์ ภายหลัง นพ.แมคฟาร์แลนด์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระอาจวิทยาคม” นพ.แฮน อดัมเสน ได้เป็น “พระบำบัดสรรพโรค”
พ.ศ. 2443 โรงเรียนได้รับพระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย
พ.ศ. 2446 ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรเป็น 4 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นประถมศึกษา
พ.ศ. 2453
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว” โดยให้โรงเรียนมหาดเล็กเดิมเป็นแผนกรัฏฐประศาสนศาสตร์ศึกษา
โรงเรียนราชแพทยาลัย เป็นแผนกเวชชศึกษา โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ เป็นแผนกครุศึกษา
โรงเรียน
275 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กฎหมายเป็นแผนกนิติศึกษา ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ แต่โรงเรียนทั้งสี่แผนกยังอยู่สถานที่เดิมและสังกัดเดิม ภายหลังพระราชทานวังประทุมวัน ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2456 ตั้งแผนกยันตรศึกษาอีกแผนกหนึ่ง แล้วย้ายแผนกรัฏฐประศาสนศาสตร์และแผนกครุศึกษาไปรวมกันที่วังประทุมวัน รวมมีการสอนที่วังประทุมวัน 3 แผนก แต่แผนกเวชชศึกษายังอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
พ.ศ. 2456 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ทรงเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย ทรงเริ่มปรับปรุงการศึกษาแพทย์ให้ดีขึ้น โดยการจัดการสอนวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน คือ ปรีคลินิกมากขึ้น เพราะทรงเห็นว่าวิชาแพทยศาสตร์เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนแพทย์ควรจะได้เรียนทั้งวิทยาศาสตร์และปรีคลินิกมากขึ้น ทรงหาครูที่เป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเภสัชกร ทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย มาช่วยสอนทุก ๆ วิชา ครูคนสำคัญทางวิทยาศาสตร์ คือ ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ซึ่งทรงจบเกษตรศาสตร์จากอังกฤษ
พ.ศ. 2456 ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรเป็น 5 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคละ 2 ปีครึ่ง รับนักเรียนจบชั้นมัธยม 6 (หลักสูตรเดิม) เข้ามาเรียน ทำให้นักเรียนแพทย์มีความรู้พื้นฐานสูงขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกัน การสอนแพทย์แผนไทยมีปัญหา เพราะ ม.จ.เจียก ทินกร ถึงชีพิตักษัย ต้องเชิญพระยาพิศนุประสาทเวชมาเป็นครูใหญ่แทน ภายหลังพระยาพิศนุฯ ถึงแก่กรรมลงอีก การสอนก็มีปัญหามากขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือ นักเรียนกล่าวว่าครูไม่พอใจที่นักเรียนถาม แต่ครูแก้ว่านักเรียนไม่เคารพครู และปัญหาเรื่องตำรายาที่เป็นของส่วนตัวของครู ทำให้การสอนไม่ได้ผล จึงเลิกการสอนแพทย์แผนไทยในราชแพทยาลัย
พ.ศ. 2457 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิต-ประยูรศักดิ์ เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร (ในเอกสารชั้นต้นยุคนั้นสะกดพระนามว่า กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร)
พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร เป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย กรมหมื่นไชยนาทนเรนทรทรงทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ทรงช่วยพัฒนาการศึกษาแพทย์ และทรงติดต่อกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้จัดการให้พระองค์ท่านไปดูงานโรงเรียนแพทย์ที่ฟิลิปปินส์ และขอให้ช่วยหาอาจารย์ทางพยาธิวิทยาให้แก่โรงเรียนราชแพทยาลัย
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (พ.ศ. 2460) ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็น “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” กรมหมื่นไชยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย พระยาเวชสิทธพิลาสเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.จ.พูลศรีเกษม เกษมศรี เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2461
ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรเป็น 6 ปี ระยะแรกแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคละ 3 ปี
ต่อมาแบ่งเป็น 3 ภาค ภาคละ 2 ปี ภาคที่ 1 เรียนวิทยาศาสตร์และภาษา ภาคที่
276 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2 เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และภาคที่ 3 เรียนคลินิก คือ การศึกษาโรคผู้ป่วย และการรักษาโรค 2 ภาคแรกเรียนที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่วังประทุมวัน ภาคที่ 3 เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ ที่โรงพยาบาลศิริราช รับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 เข้าเรียนแต่ในระยะแรกรับนักเรียนที่จบเพียง ม.7
พ.ศ. 2462 - 2463 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.จี. เอลลิส มาสอนพยาธิวิทยา ครั้งแรกที่มีการสอนวิชานี้ในประเทศไทย
พ.ศ. 2465 กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ขอให้ช่วย “ปรับปรุงการศึกษาแพทย์ของประเทศไทยให้ถึงมาตรฐานการศึกษาแพทย์ในสหรัฐ” โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายไทยทำสัญญากันเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 (2466) ตกลงจัดการเรียนแพทย์ระดับแพทยศาสตรบัณฑิต รับนักเรียนจบ ม.8 เท่านั้นเข้าเรียน มีการเรียนดังนี้
เรียนเตรียมแพทย์ 2 ปี ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วิชาที่สอนคือ ชีววิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง เคมีอนินทรีย์ เคมีอินทรีย์ ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส
เรียนแพทยศาสตร์อีก 4 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์
ปีที่ 1 เรียนกายวิภาคศาสตร์ 3 สาขา สรีรวิทยา และชีวเคมี
ปีที่ 2 เรียนกายวิภาคศาสตร์อีก 2 สาขา พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา เภสัชวิทยา พยาธิคลินิก บทนำคลินิก อาการวิทยา กายภาพวินิจฉัย สุขวิทยา จรรยาแพทย์
ปีที่ 3 เรียนอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา พยาธิทางศัลยกรรม
ปีที่ 4 อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์และวิชาย่อยของศัลยศาสตร์ operative surgery สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา รังสีวิทยาและสาธารณสุข
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2466 ใช้เวลาเรียน 6 ปี
และมีการเรียนระดับหลังปริญญา คือ ระดับแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ด้วย
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตรแรกของประเทศไทย ทำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.จี. เอลลิส M.D., M.Sc. หลักสูตรนี้ไม่บังคับให้แพทย์จบใหม่ต้องเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์ประจำบ้าน จึงเรียกว่าหลักสูตร 2:2:2 แต่แผนกต่าง ๆ จะรับแพทย์จบใหม่ไว้เป็นแพทย์ประจำบ้าน (House Officer) แผนกละ 1 - 2 คน เพื่อฝึกอบรมต่อ และมักจะได้บรรจุเป็นอาจารย์ในภายหลัง
พ.ศ. 2466 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญา รุ่นที่ 1 เปิดเรียนเดือนพฤษภาคมปลายปีนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ กลับมาทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สอนสัตววิทยา ทรงช่วย ศ. นพ.เอลลิสจัดหลักสูตรและขจัดปัญหาต่าง ๆ ในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์
พ.ศ. 2467
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป
ทรงสอนสัตววิทยา กายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และประวัติศาสตร์
277 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ. 2468 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จไปยุโรปเพื่อรักษาพระองค์ ระหว่างนั้นเสด็จกลับมาประเทศไทยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า-เจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2469 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับไปทรงเรียนแพทย์ในระดับคลินิกที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อ จากที่ค้างไว้เพราะทรงหยุดเรียนแพทย์ เมื่อทรงเรียนจบปรีคลินิก (ต้องทรงเรียนอีก 2 ปี)
พระอาจวิทยาคมเกษียณอายุ และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2470
รับผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
โดยเรียนเตรียมแพทย์ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
นิสิตหญิงเตรียมแพทย์รุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
278 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
นพ.อวย เกตุสิงห์ เล่าไว้ว่า
...เช้าที่สดใสวันหนึ่งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2471 มีรถยนต์สองสามคันแล่นตามกันไปจอดหน้าตึกอำนวยการ แล้วสุภาพสตรีค่อนข้างสาวเจ็ดคนก็ก้าวออกมา สวมเสื้อแขนยาวแบบคนทำงานออฟฟิศ ติดกระดุมจนถึงคอและนุ่งผ้าถุงยาวสามส่วนเต็มที่ แต่ละคนหิ้วกระเป๋าสี่เหลี่ยมใบใหญ่ดูขึงขัง บางคนหิ้วตะกร้าใส่อาหารไปด้วยแทบจะทันทีที่พวกนั้นลับหายเข้าไปทางประตูหน้าตึก ทางประตูหลังก็มีข่าวชวนตะลึงพุ่งออกมา และแพร่กระจายไปทุกหนแห่งเหมือนกับไฟไหม้ป่า ว่านั่นคือ นักศึกษาหญิงรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ต่อมาไม่ช้าก็รู้กันทั่วไปว่าพวกนั้นเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์ ที่มาเข้าเรียนช้าไปหน่อยเพราะอุปสรรคบางประการในการสมัคร ไม่มีใครสนใจว่าอุปสรรคนั้น คืออะไร สำหรับทุก ๆ คน เป็นการเพียงพอแล้วที่จะรู้ว่า มหาวิทยาลัยได้รับผู้หญิงเข้ามาเรียนแล้วเป็นครั้งแรก...
เรื่อง - หนังสือ อวยนิมิต อนุสรณ์/ความทรงจำของ นพ.อวย เกตุสิงห์
พ.ศ. 2471 เดือนมิถุนายน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเรียนจบแพทย์ ได้รับปริญญา Doctor of Medicine เกียรตินิยม ชั้น Cum laude ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พิธีประสาทปริญญาของฮาร์วาร์ดจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2471
นิสิตหญิงรุ่นแรกของประเทศไทย ถ่ายเมื่อกลางปี พ.ศ. 2471 ในห้องพักตึกอักษรศาสตร์ (ลาออกไปแล้ว 1 คน)
จากซ้ายไปขวา - เต็มดวง บุนนาค ม.ร.ว.นันทา ทองแถม ชด นิธิประภา ม.ร.ว.ส่งศรี เกษมศรี
ฉลอง ไกรจิตติ ไทยเชียง อรุณลักษณ์
ที่มา : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์ คุณประวิทย์ สังข์มี
279 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกของประเทศไทย เรียนสำเร็จ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร “เวชชบัณฑิตชั้นตรี” จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ที่ตึกบัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2475 แพทยศาสตรบัณฑิตหญิงรุ่นแรกเรียนสำเร็จ 3 คน แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (เวชชบัณฑิตชั้นเอก) คนแรกเรียนสำเร็จ
พ.ศ. 2478 คณะแพทยศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในระยะนี้ การเรียนแพทย์ปรุงยาแยกจากคณะแพทยศาสตร์ ออกไปเป็นแผนกอิสระ เภสัชกรรมศาสตร์ ปรับหลักสูตรสู่ปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต โดยอาจารย์ของศิริราชไปช่วย ขณะเดียวกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ และแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2485 รัฐบาลตั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งส่วนราชการเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกรมสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รัฐบาลให้แยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ แผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ แผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสังกัดกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2486 ออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์เปลี่ยนชื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แผนกอิสระทั้ง 3 ยกฐานะขึ้นเป็นคณะวิชา คือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทั้ง 4 คณะ เรียนวิทยาศาสตร์ในระดับเตรียมของคณะทั้ง 4 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามเดิม
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การศึกษาของไทยได้รับการกระทบกระเทือนมาก ตั้งแต่หยุดเรียน เลื่อนชั้นโดยไม่ต้องสอบไล่ ตึกเรียนถูกยึดไปใช้เป็นค่ายทหาร ตึกเรียนและตึกผู้ป่วยถูกทิ้งระเบิดเสียหาย อุปกรณ์การเรียนไม่พอ ยารักษาโรคไม่มี ฯลฯ
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ ปะรำพิธีหน้าตึกรังสีวิทยา ในโรงพยาบาลศิริราช หลังจากพระราชทานพระบรมราโชวาทแล้ว มีพระราชกระแสว่าทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มากขึ้นให้พอกับความต้องการของประเทศ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ศิริราชถูกระเบิดหลายครั้ง ตึกพยาธิวิทยาถูกระเบิดเสียหายทั้งหลัง
ตึกพระองค์หญิงสำหรับผู้ป่วยเด็กไฟไหม้หมด ตึกอีกหลายหลังหลังคาแตก หน้าต่างฉีก
อุปกรณ์การเรียนเสียหาย ต้องปลูกโรงไม้หลังคาจาก เป็นที่เรียนวิชาพยาธิวิทยา
หลังสงครามจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทั้งนักเรียนที่ข้ามฟากมาใหม่และนักเรียนแพทย์ที่หยุดเรียนไปเพื่อหนี
280 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ระเบิดระหว่างสงคราม แล้วกลับมาเรียน ทำให้นักเรียนชั้นปีที่ 1 มีถึง 180 คน มากกว่าสถานที่ถึงกว่า 2 เท่าต้องจัดโต๊ะชำแหละที่ระเบียงหน้าห้องเรียน ไม่มีทางที่จะเพิ่มนักศึกษาแพทย์ได้โดยเร็ว นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ยังเคยตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการว่าจะรับนักเรียนแพทย์ให้ได้ปีละ 200 คน
การที่จะผลิตแพทย์ให้ได้ตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท-มหิดล จะต้องตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ โดยตั้งที่โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่และมาตรฐานสูงอยู่แล้ว
ศ. นพ.เฉลิม พรมมาส ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงขอความช่วยเหลือจากพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การเจรจากันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทยเป็นไปอย่างดี จึงเกิดแพทยศาสตร์ คณะที่ 2 สมดังพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8
ระยะระหว่าง พ.ศ. 2490 - 2500 เป็นระยะที่ต้องพัฒนาใหม่ทุกทางหลังจากภาวะสงคราม ต้องสร้างอาคารสถานที่ทดแทนอาคารที่พังเพราะผลของสงคราม พ.ศ. 2498 มีการประชุมการศึกษาแพทย์ ครั้งที่ 1 ที่บางแสน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่สำคัญ คือ
1. เพิ่มการสอนเวชศาสตร์ป้องกัน และจัดตั้งแผนกเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
2. เพิ่มการสอนจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์และจัดตั้งแผนกจิตเวชศาสตร์
3. ยกวิชากุมารเวชศาสตร์เป็นวิชาใหญ่
4. ให้พัฒนาวิธีรับนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้บุคคลที่ดีมาเรียนแพทย์
5. บังคับให้แพทย์จบใหม่เป็นแพทย์ฝึกหัดเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องฝึกหัดในแผนกอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา แผนกละ 3 เดือน กุมารเวชศาสตร์ หรือจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์ แผนกละ 3 เดือน เมื่อปฏิบัติงานครบแล้วจึงจะได้รับใบประกอบโรคศิลปะ
พ.ศ. 2504 แพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ต้องเป็นแพทย์ฝึกหัด หลักสูตรจึงเรียกว่า หลักสูตร 2:2:2 1
พ.ศ. 2505 การไปศึกษาต่อทางคลินิกที่สหรัฐฯ ทำได้ง่ายขึ้น โดยสอบเทียบความรู้ในประเทศไทยแล้วสมัครไปเป็นแพทย์ประจำบ้านในสหรัฐฯ เมื่อฝึกอบรมครบบริบูรณ์แล้วก็มีสิทธิ์สอบเป็นผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้แพทย์จบใหม่เดินทางไปทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้น จน พ.ศ. 2508 หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่าแพทย์เชียงใหม่เช่าเรือเหมาลำไปอเมริกา
พ.ศ. 2511 รัฐบาลออกกฎให้แพทย์จบใหม่ทำงานใช้ทุนในประเทศไทย 3 ปี และพยายามพัฒนาโรงพยาบาลจังหวัด ยกฐานะสถานีอนามัยชั้น 1 เป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เพื่อจูงใจให้แพทย์จบใหม่อยู่ในชนบทต่อไป
พ.ศ. 2511 กระทรวงกลาโหมส่งนักเรียนเตรียมทหารมาเรียนแพทย์ โดยเรียนเตรียมแพทย์ปีนี้ และข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช พ.ศ. 2513 เป็นศิริราชรุ่น 79 มีระยะหนึ่งเจ้ากรมแพทย์ทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นนักเรียนแพทย์ทหารของศิริราช
พ.ศ. 2512
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเปลี่ยนชื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
281 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
นิสิตเตรียมแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช เป็นรุ่นสุดท้าย
พ.ศ. 2518 เริ่มรับนักเรียนแพทย์ชนบท เข้าเรียนเตรียมแพทย์ปีนี้ และข้ามฟากปี 2520 เป็นศิริราชรุ่น 86 วิธีการรับ ทำโดยส่งข้อสอบไปให้นักเรียนในจังหวัดที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการสอบ ถ้าสอบได้ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ส่งกรรมการไปสัมภาษณ์ถึงที่บ้าน เพื่อดูความเหมาะสม ผลของโครงการ นักศึกษาเกือบทั้งหมดเรียนสำเร็จ กลับไปทำงานได้ผลสมประสงค์เป็นส่วนมาก ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและเติบโตขึ้นเป็นสาธารณสุขจังหวัดก่อนเกษียณ มีที่ขึ้นไปถึงอธิบดีและรองปลัดกระทรวง
พ.ศ. 2520 นักเรียนแพทย์ทหารรุ่นที่ 1 ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ขึ้นเรียนชั้นปีที่ 1 ตึกเรียนยังไม่เสร็จ ต้องเรียนที่ตึกสถาบันพยาธิทหารบก และให้อาจารย์ของศิริราชไปช่วยสอนเป็นเวลา 3 ปี บางวิชาก็ให้นักเรียนมาเรียนปฏิบัติการที่ศิริราชทั้งชั้น
พ.ศ. 2522 มีการประชุมอบรมการศึกษาแพทย์ครั้งที่ 4 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ มีข้อสรุปที่สำคัญ คือ
1. ลดหลักสูตรเตรียมแพทย์ลงเหลือเพียง 1 ปี ลดวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ ตัดบางวิชาออก คือ พฤกษศาสตร์ กายวิภาคเปรียบเทียบ ให้เรียกเตรียมแพทย์ว่า แพทย์ปีที่ 1
2. เลิกแพทย์ฝึกหัด
3. เพิ่มการเรียนคลินิกเป็น 3 ปี คลินิกปีที่ 3 เรียกว่า นักศึกษาแพทย์ภาคปฏิบัติ ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย เหมือนแพทย์ฝึกหัด ในระยะแรกนักศึกษาแพทย์ภาคเวชปฏิบัติทำงานได้เท่าเทียมแพทย์ฝึกหัด แต่เมื่อมีแพทย์มากขึ้น นักเรียนแพทย์ปีที่ 6 ก็ได้แต่เพียงเป็นลูกมือเท่านั้น
หลักสูตรใหม่นี้เรียกกันว่า หลักสูตร 1 2 3
พ.ศ. 2523 เริ่มหลักสูตรใหม่ ทำให้โรงเรียนแพทย์ต้องสอนชั้นปีที่ 1 (เดิม) และปีที่ 2 (ใหม่) ซ้ำกัน 2 รอบ เรียกกันว่า รุ่นเร่งรัด
พ.ศ. 2536 เกิดปัญหาในการเทียบมาตรฐานของปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตของประเทศไทยกับต่างประเทศ เนื่องจากเลิกแพทย์ฝึกหัด จึงมีระเบียบออกมาให้แพทย์ที่จบใหม่ไปทำงานในโรงพยาบาลทั่วไปที่มีการแบ่งแผนกเป็น อายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรม และกุมารเวชศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี เรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์ที่จะเข้ามาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้ต้องเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะมาแล้ว
พ.ศ. 2548 แพทยสภาออกข้อบังคับให้แพทย์ที่จบใหม่ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยแบ่งสอบเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 สอบประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน
ส่วนที่ 2 สอบประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
ส่วนที่ 3
สอบประเมินทักษะและหัตถการทางคลินิก
282 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2. โรงเรียนแพทย์ของมิชชันนารี โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ (พ.ศ. 2459 - 2463)
โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค โดยคณะมิชชันนารี โดยนายแพทย์ อี.ซี. คอร์ท หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร
เรียนวิทยาศาสตร์และปรีคลินิกที่โรงเรียนปรินส์รอเยล
เรียนคลินิกที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค นายแพทย์คอร์ทและนายแพทย์แมคเคน เป็นผู้สอน สอนเพียงรุ่นเดียว มีผู้สำเร็จการศึกษา 4 คน คือ นายแพทย์จินดา สิงหเนตร นายแพทย์หม่อง ประดิษวรรณ นายแพทย์ศรีมูล อินคำ และนายแพทย์สว่าง สิงหเนตร
มาตรฐานการศึกษาเท่ากับแพทย์ประกาศนียบัตรของราชแพทยาลัย จึงได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม ชั้น 1 ตาม พ.ร.บ. เช่นเดียวกัน
การที่โรงเรียนนี้สอนเพียงรุ่นเดียว หมายความว่ารับนักเรียนเมื่อ พ.ศ. 2459 แล้วไม่รับอีกเลย เหตุผลน่าจะเป็นเพราะคณะมิชชันนารีต้องการผลิตแพทย์ไว้ทำงานของคณะมิชชันนารีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรับปรุงการศึกษาแพทย์โดยร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังถึง 6 ปี
อนึ่ง งานรักษาผู้ป่วยของนายแพทย์คอร์ทที่ รพ.แมคคอร์มิค และงานของนายแพทย์แมคเคนที่โรงพยาบาลโรคเรื้อนนั้นมากเต็มมืออยู่แล้ว ยากที่จะสอนนักเรียนหลายชั้นเรียนได้
3. โรงเรียนการแพทย์ทหารบก (พ.ศ. 2460 - 2463)
โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นตามคำสั่งว่าด้วยการจัดการโรงเรียนการแพทย์ทหารบก วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2460 เรียนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดสยาม ตลอดหลักสูตร
หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร
รับนายสิบเสนารักษ์ที่มีความรู้ดีมาเรียนแพทย์ที่โรงเรียนนี้ ซึ่งสอนเพียงรุ่นเดียว สำเร็จการศึกษาแล้วบรรจุเป็นแพทย์ในกองทัพ
รายละเอียดของหลักสูตร ยังหาไม่พบ
รายชื่อแพทย์ที่จบจากโรงเรียนนี้ พลโท นายแพทย์ผ่อง มีคุณเอี่ยม บันทึกไว้ มีดังนี้ หลวงชมพูเวศ ขุนจรัสโยธารักษ์ ขุนสุนทรเภสัช ขุนเด่นไวทยการ เมื่อมี พ.ร.บ.การแพทย์ แพทย์ของโรงเรียนนี้ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมแผนปัจจุบัน ถ้าสอบไม่ได้ต้องไปทำหน้าที่ธุรการของกองทัพ
4. โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล กรมแพทย์ทหารบก (พ.ศ. 2483 - 2490)
ตั้งเมื่อวันที่
23 เมษายน 2483 รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายต้องการแพทย์ประจำอำเภอ อำเภอละ 1 คน
โดยให้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ทหารเมื่อเกิดสงครามด้วย จึงเปิดโรงเรียนแพทย์ในกองทัพบก
มีโครงการรับนักเรียน 4 รุ่น รุ่นละ 124 คน เมื่อจัดการศึกษาครบ 4 รุ่น จะได้แพทย์
496 คน (เท่าจำนวนอำเภอในเวลานั้น) แล้วจะยุติโครงการ
283 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กองทัพบกจัดตั้งโรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหารบกที่ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี
กระทรวงมหาดไทยสั่งให้จังหวัดคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ตามหลักสูตรในขณะนั้น จำนวนเท่าที่จัดสรรให้แต่ละปี มาเข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ ลพบุรี
พลตรี พระศัลยเวทวิสิษฎ์ (สาย คชเสนี) แพทย์ใหญ่ทหารบก เป็นผู้วางหลักสูตร โดยใช้หลักสูตรของ Conjoint Board (M.R.C.S., L.R.C.P.) ของสหราชอาณาจักร เป็นหลัก
หลักสูตรการศึกษา แบ่งเป็น 3 ภาค คือ
ภาคที่ 1 Premedical ใช้เวลาเรียน 1 ปี จำนวนชั่วโมง 1,480 ชั่วโมง
ภาคที่ 2 Preclinical ใช้เวลาเรียน 1 ปี 6 เดือน จำนวนชั่วโมง 2,209 ชั่วโมง
ภาคที่ 3 Clinical ใช้เวลาเรียน 1 ปี 6 เดือน จำนวนชั่วโมง 2,173 ชั่วโมง
วิชาทหาร จำนวนชั่วโมง 440 ชั่วโมง
Internship 6 เดือน
รายละเอียดของการเรียนการสอนแต่ละวิชานั้นมากใกล้เคียงกับหลักสูตรแพทย์ปริญญา สังเกตว่าเวลาเรียนเพียง 4 ปี 6 เดือน แต่จำนวนชั่วโมงมากถึง 6,302 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เพราะมีการหยุดระหว่างภาคเพียง 15 วัน ไม่มีหยุดเทอมใหญ่เช่นนักศึกษาปกติ นักศึกษาจึงได้เรียนน้อยกว่านักศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ไม่มากนัก สภาพของโรงเรียนในระยะสงคราม นักเรียนลำบากมาก เช่น นักเรียนต้องมีตะเกียงน้ำมันมะพร้าวไว้ดูหนังสือ เพราะไฟฟ้าไม่มี แต่ทางการรักษามาตรฐานอย่างเข้มงวดมาก สอบไล่ตก เพียงครั้งเดียวก็ถูกให้พ้นสภาพนักเรียนจะต้องไปรับราชการเป็นพลทหารออกรบทันที จากจำนวนนักเรียนที่รับเข้าเรียนตั้งแต่ พ.ศ. 2483 รวม 4 รุ่น จำนวน 474 คน เรียนสำเร็จเพียง 167 คน รุ่นที่ 4 เรียนสำเร็จ พ.ศ. 2490 นายทหารเสนารักษ์ทุกคน ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ และได้รับใบประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมชั้นที่ 1 เช่นเดียวกับแพทยศาสตรบัณฑิต
แพทย์ทั้ง 167 คนนี้ ส่วนใหญ่รับราชการทหารต่อไป ส่วนหนึ่งออกไปรับราชการกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นนายแพทย์ประจำสถานีอนามัย หลายคนได้ไปเรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอบได้ American Board ก็มี พวกที่รับราชการทหารได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายทหาร ได้เป็นพันเอกพิเศษ พวกที่รับราชการกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นสาธารณสุขจังหวัดหลายคน คนหนึ่งไปสอนเวชศาสตร์ป้องกันในโรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัดและได้เป็นหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน อีกคนหนึ่งโอนไปมหาดไทย สุดท้ายได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
5. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน)
คณะแพทยศาสตร์คณะนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมื่อ
พ.ศ. 2490 ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2490
284 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เมื่อ พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จไปพระราชทานปริญญามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ที่โรงพยาบาลศิริราช ทรงมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มากขึ้นให้พอกับความต้องการของประเทศ รัฐบาลจึงอนุมัติให้ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ร่วมกับสภากาชาดไทย ตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเปิดสอนวันแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณเป็นคณบดีคนแรก
คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นเวลา 20 ปีเศษ จึงย้ายมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2510 และเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ระยะแรกเหมือนกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ใช้เวลาเรียน 6 ปี คือ
เตรียมแพทย์ 2 ปี เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปรีคลินิก 2 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คลินิก 2 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
การเรียนการสอนคล้ายกับคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แตกต่างกันในการจัดการเรียนการสอนและห้วงเวลา ตามความจำเป็น เช่น กายวิภาคศาสตร์ ปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สอนครึ่งปีแรก มหกายวิภาคศาสตร์เรียนมากกว่าที่ศิริราช ใช้อาจารย์ใหญ่ถึง 2 ร่าง สำหรับนักศึกษา 4 คน เพราะร่างแรกใช้เรียนผิวหนังกล้ามเนื้อ โครงกระดูกและข้อต่อ ร่างที่ 2 ชำแหละเรียนหลอดเลือด เส้นประสาท ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ฯลฯ สรีรวิทยาและชีวเคมีเรียนในครึ่งปีหลัง เป็นต้น
อาจารย์ของศิริราชหลายท่านไปช่วยสอน บางท่านย้ายไปคณะแพทย์ใหม่ บางท่านไปช่วยสอนและทำงานที่จุฬาฯ โดยไม่ได้โอนย้ายไป เช่น ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมาน มันตราภรณ์ ไปทำงานสร้างชื่อให้คณะนี้มาก โดยเฉพาะการผ่าตัดหัวใจ แต่ท่านกลับมาเกษียณที่ศิริราช บางแผนก เช่น พยาธิวิทยา ปีแรกอาจารย์ไปช่วยสอนเกือบทั้งแผนก แพทย์ศิริราชรุ่น 51 และรุ่น 52 สมัครไปทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ปรีคลินิกจำนวนมาก
อาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สนใจแพทยศาสตร์ศึกษามาก จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนล้ำหน้าศิริราชไปมาก เช่น การเรียนระบบประสาทผสมผสานทั้งระบบเป็นวิชาประสาทศาสตร์
เมื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์คณะนี้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนหลายครั้ง
คณะฯ ได้จัดการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท โดยรับผิดชอบภาคตะวันออก ได้จัดศูนย์การเรียนแพทยศาสตร์ที่โรงพยาบาลจันทบุรี และโรงพยาบาลชลบุรี
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นคณะที่เริ่มทดลองทำการสอนแบบ Problem Base Learning เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
และได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เปิดสอนแพทย์โดยระบบ PBL รับบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์มาเรียน
285 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
6. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบัน)
คณะแพทยศาสตร์คณะนี้ตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นคณะที่ 3 เริ่มมีแนวคิดจะตั้งโรงเรียนแพทย์ที่ต่างจังหวัด เพราะต้องการให้แพทย์ได้สัมผัสกับภูมิภาคตั้งแต่เป็นนักศึกษา มีจิตใจรักภูมิภาค เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ประกอบอาชีพในภูมิภาคต่อไป
โรงเรียนแพทย์ในต่างจังหวัดเริ่มในภาคเหนือก่อน พ.ศ. 2498 จึงมีโครงการตั้งคณะแพทยศาสตร์ พิษณุโลก ที่เลือกจังหวัดพิษณุโลกเพราะเหตุผลว่าเป็นจังหวัดใหญ่ มีโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในต่างจังหวัดในเวลานั้น คือโรงพยาบาลพุทธชินราช
ภายหลังแนวคิดเปลี่ยนเป็นให้ตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความช่วยเหลือขององค์การบริหารวิเทศกิจของสหรัฐอเมริกา (USOM) จึงตกลงโอนโรงพยาบาลสวนดอกหรือโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากกรมการแพทย์มาให้กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับโรงเรียนผดุงครรภ์ของกรมอนามัย และซื้อที่ดินเพิ่มเติม สร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโดยความช่วยเหลือของ USOM ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงได้รับชื่อว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่
รับโอนอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์เดิมทั้งจากศิริราชและจุฬาฯ และรับแพทย์รุ่นใหม่ส่งไปเรียนในสหรัฐอเมริกาโดย USOM และ USOM ได้จัดส่งคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ มาช่วยจัดการสอนทุกวิชา
ตั้งโรงเรียนเตรียมแพทย์สำหรับคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ขึ้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นเปิดสอนเตรียมเภสัช เตรียมทันตแพทย์ เตรียมพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และสุขาภิบาลอยู่แล้ว ปีต่อมาได้ขยายเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และย้ายไปอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา
พ.ศ. 2503 นักศึกษาแพทย์เชียงใหม่ที่เรียนเตรียมแพทย์จบแล้ว ควรได้ขึ้นไปเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ ปรากฏว่าขึ้นไปไม่ได้ เพราะตึกเรียนและหอพักสร้างไม่เสร็จ อุปกรณ์การเรียนไม่มี บางอย่างไม่ได้จัดหา บางอย่างจัดซื้อไม่ได้ ทั้งที่มีงบประมาณจาก USOM เพราะสั่งซื้อช้า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ต้องขอตัว นายแพทย์บุญสม มาร์ติน จากกรมพลศึกษามาเป็นคณบดี เพื่อบริหารจัดการ นายแพทย์บุญสมได้ขอความช่วยเหลือจากกายวิภาคศาสตร์ ศิริราช โดยขอ Microscopic slide ทั้ง Histology Embryology และ Neuroanatomy ไปจำนวนพอใช้เรียน ขอโครงกระดูกและอาจารย์ใหญ่สำหรับเรียนในปีต่อไปด้วย และฝึกอบรมพนักงานรักษาศพให้ด้วย นักศึกษาแพทย์เชียงใหม่ขึ้นไปเรียนที่เชียงใหม่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2503
วันที่ 16 มีนาคม 2508
โอนคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักเรียนแพทย์ 7 รุ่นแรกเรียนเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
286 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
7. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อ พ.ศ. 2508 โดยมีวัตถุประสงค์
1. ผลิตแพทย์เพิ่มให้พอกับความต้องการของประเทศ
2. แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเตรียมอาจารย์สำหรับไปสอนในโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ในภูมิภาค
หลักการ
1. ใช้อาจารย์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ทำการสอนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ
2. เปิดโอกาสให้อาจารย์ทางคลินิกทำการวิจัย
3. จะควบคุมเตียงรับผู้ป่วยในให้ไม่เกิน 700 เตียง
4. หลักสูตรจะทำให้นักศึกษา ทำการศึกษาด้วยตนเอง เลือกเรียนตามใจสมัคร สนใจทำงานคลินิกอย่างจริงใจ มีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการสาธารณสุขมูลฐาน และรับผิดชอบต่อชุมชนในชนบท
การศึกษาในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่างจากคณะแพทยศาสตร์ 3 คณะแรก คือ
เรียนเตรียมแพทย์ 2 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์
เรียนปรีคลินิก 2 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์
เรียนคลินิก 2 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (เหมือนกับการศึกษาแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2460 - 2466)
มีการก่อสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดีให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย ภาควิชาต่าง ๆ รวมอยู่ในตึกเดียว (Compact hospital) ขณะเดียวกันได้สร้างตึกคณะวิทยาศาสตร์ในที่ดินติดกันเป็นคณะวิชาที่สมบูรณ์แบบ มีภาควิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ทุกสาขา ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานทุกภาควิชา มีห้องบรรยายใหญ่หลายห้อง สอนวิชาพื้นฐานให้คณะต่าง ๆ ทุกคณะในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้ความช่วยเหลือ พัฒนาการศึกษาแพทย์แก่ประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และอาจารย์วิทยาศาสตร์ และพัฒนาการวิจัยของประเทศไทย จึงได้ช่วยคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งการส่งศาสตราจารย์เข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกวิชาทางปรีคลินิก พัฒนาการวิจัย ทั้งการจัดหาอุปกรณ์การวิจัย ทั้งทุนการวิจัย ฯลฯ และให้ทุนแก่นักศึกษาที่ดีที่สุดไปเรียนวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์
คณบดีท่านแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยเสวี
สำหรับโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น
ได้มีนโยบายว่าจะไม่ทำผิดซ้ำกับโรงพยาบาลศิริราช โดยรับผู้ป่วยจนล้น
งบประมาณไม่พอใช้ เป็นหนี้ค่ายา ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และอาจารย์
287 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ไม่มีเวลาทำงานวิจัยเลย มหาวิทยาลัยได้ย้ายโอนอาจารย์จำนวนหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์เดิมทั้ง 3 คณะ รับแพทย์ที่เรียนจบจากต่างประเทศ รับแพทย์ที่เรียนจบในประเทศไทยที่เดินทางไปฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาในช่วง 10 ปีก่อนหน้านั้นกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หลายท่านเป็นอาจารย์ระยะหนึ่งแล้วก็ออกไปปฏิบัติงานเป็นส่วนตัว ถึงอย่างไรการตั้งคณะแพทยศาสตร์คณะนี้ก็เป็นการดึงแพทย์กลับมาประเทศไทยได้จำนวนหนึ่ง
ต่อจากการเกิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี การสอนวิชาแพทย์ในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ 1 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ 5 ปี
2. เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ 3 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ 3 ปี
ต่างกันที่เรียนปรีคลินิกที่คณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะแพทยศาสตร์
8. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน)
มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเมื่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์จะพัฒนาภาคที่แห้งแล้ง ประชาชนยากจนที่สุดในประเทศ โดยตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่อยู่กลางภาค และตั้งคณะวิชาที่มีความจำเป็นก่อน คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2515 จึงประกาศตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ. นพ.กวี ทังสุบุตร ได้เป็นคณบดี เริ่มจัดหลักสูตรใหม่ เป็นระบบ 1 2 3 เป็นแห่งแรก โดยต้องการให้แพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้มีความรู้ทางการแพทย์เท่ามาตรฐานสากล แต่เน้นหนักทางเวชศาสตร์ชุมชน มีความเชื่อมั่น และสามารถรักษาโรคที่พบบ่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าใจระบบบริหารสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคได้อย่างดี
การก่อสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ได้รับความช่วยเหลือรัฐบาลนิวซีแลนด์ ออกแบบและออกค่าก่อสร้างโรงพยาบาลให้ โรงพยาบาลนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก
อาจารย์แพทย์ได้จากคณะแพทยศาสตร์ในกรุงเทพฯ ทั้ง 3 คณะ และยังมีอาจารย์จากเชียงใหม่โอนย้ายมาด้วย ส่วนอาจารย์ปรีคลินิกได้จากอาจารย์คณะเดิมโอนย้ายไปจำนวนหนึ่ง และได้อาจารย์วิทยาศาสตร์ที่สำเร็จปริญญาเอกจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกำลังสำคัญ ประเทศนิวซีแลนด์ให้ทุนอาจารย์ไปศึกษาต่อปริญญาเอกอีกจำนวนหนึ่ง
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เริ่มรับนักศึกษา พ.ศ. 2517 ระยะแรก
ใช้สถานพยาบาลศรีฐานเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไปก่อน
จนโรงพยาบาลศรีนครินทร์สร้างเสร็จ
มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ ทำให้มีแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากทันกับการสร้างโรงพยาบาลชุมชน
ทุกอำเภอของกระทรวงสาธารณสุข
288 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
9. คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน)
รัฐบาลไทยตัดสินใจสร้างมหาวิทยาลัยภาคใต้ในเวลาใกล้เคียงกับการสร้างมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาในภาคนี้ เริ่มด้วยการตั้งคณะศึกษาศาสตร์ที่รูสะมิแล จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นวิทยาเขตแรกของมหาวิทยาลัยนี้ แต่สถานที่ไม่เหมาะจะตั้งคณะ ที่ต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ตั้งเป็นวิทยาเขตที่ 2 ที่จังหวัดสงขลา และตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งระยะแรกเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วตั้งคณะแพทยศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2515 รับนักเรียนเข้าหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2516
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 แล้วพระราชทานชื่อโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้หลักสูตรแบบเดียวกับหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ทั้งเตรียมแพทย์และปรีคลินิกรวม 4 ปี และเรียนคลินิกที่คณะแพทยศาสตร์เพียง 2 ปี อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์แห่งเดิมย้ายลงไปที่สงขลาหลายท่าน และได้รับแพทย์จบใหม่ให้เรียนต่อเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วลงไปสอนที่สงขลา อาจารย์ทางปรีคลินิกนั้นได้กำลังสำคัญจากศิษย์เก่าของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาคใต้ต่างกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะประชาชนมีเศรษฐานะดีกว่า การศึกษาระดับมัธยมศึกษาดีกว่า โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี มีนักเรียนจากจังหวัดเหล่านี้เข้ามาเรียนแพทย์มากทุกปี นักเรียนในภาคกลางที่เข้ามาเรียนแพทย์ใกล้เคียงกับ 3 จังหวัดนี้ มีจังหวัดเดียว คือ ราชบุรี ถ้าแพทย์ที่เป็นชาวใต้กลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาเดิมเป็นส่วนใหญ่ ภาคใต้จะไม่ขาดแพทย์ เว้นแต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปรับปรุงหลักสูตรไปตามลำดับ และได้ใช้ระบบ Problem Base Learning อย่างเต็มรูปแบบ
10. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก (พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน)
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ที่กระทรวงกลาโหมจะแก้ปัญหาการขาดแพทย์ในกองทัพ โดยการตั้งโรงเรียนแพทย์
หลังจากจบโครงการโรงเรียนนายทหารเสนารักษ์แล้ว กองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพก็รับแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์เข้ารับราชการทุกปี บางปีก็มีการเกณฑ์แพทย์จบใหม่เข้าเป็นทหาร บางระยะบรรจุเป็นร้อยโทตามคุณวุฒิ บางปีก็บรรจุเป็นร้อยตรี แต่มีเงินค่าวิชาเพิ่มให้ตามวุฒิ กองทัพขยายขึ้น มีโรงพยาบาลทั้งใหญ่และเล็กมากขึ้น จึงยิ่งขาดแพทย์ทหารมากขึ้น
พ.ศ. 2511
กองทัพจึงแก้ปัญหาโดยขอส่งนักเรียนเตรียมทหารที่สำเร็จปีที่ 2
แล้วมาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเรียนเตรียมแพทย์ พ.ศ. 2511 ขึ้นเรียนปรีคลินิก
289 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ. 2513 นักเรียนแพทย์เหล่านี้เป็นนักเรียนที่ดี ตั้งใจเรียน มีน้ำใจ มีความสามัคคีกับนักเรียนพลเรือนอย่างดี แต่หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีการยุยงให้เกิดการต่อต้านนักเรียนเตรียมทหารอยู่ระยะหนึ่ง
พ.ศ. 2511 พลโท ผ่อง มีคุณเอี่ยม เจ้ากรมแพทย์ทหารบกในขณะนั้น เคยเป็นอาจารย์หัวหน้าอาจารย์ผู้สอนมหกายวิภาคศาสตร์ โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ เสนอโครงการตั้ง “โรงเรียนแพทย์ทหารบก” โดยใช้มาตรฐานเดียวกับศิริราช คณะวิทยาศาสตร์ของมหา-วิทยาลัยมหิดล และของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนักเรียนหลายแผนกเต็มมืออยู่แล้ว จึงได้ขอให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนเตรียมแพทย์หลักสูตร 2 ปี ให้ โดยได้รับอนุมัติหลักการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 แต่ต้องชะลอโครงการไว้ก่อน โครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานกระแสพระบรมราโชวาทในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2516 อันเป็นผลให้สภาการศึกษาวิชาทหารให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ทหารเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2516
โรงพยาบาลของกองทัพบก คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น มีขนาดใหญ่และมาตรฐานสูงพอที่จะเป็นโรงเรียนแพทย์ได้ จึงไม่มีปัญหาสำหรับที่เรียนคลินิก ปัญหาคือ ที่เรียนปรีคลินิก และครูปรีคลินิก กองทัพบกซื้อวังอัศวิน ติดกับโรงพยาบาลไว้แล้ว และจะสร้างโรงเรียนแพทย์ โดยใช้หลักสูตร 4 ปี
รัฐบาลจึงอนุมัติให้ตั้ง “วิทยาลัยแพทย์ทหาร”และได้รับพระราชทานชื่อว่า “วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า” เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 ขอให้มหาวิทยาลัยมหิดลรับรองหลักสูตร และบัณฑิตแพทย์ของพระมงกุฎเกล้ารับปริญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าระยะแรกสร้างตึกเรียนไม่เสร็จ
ต้องใช้ตึกสถาบันพยาธิเป็นที่เรียน ปรีคลินิกปีแรก อุปกรณ์การสอนมีครบถ้วนทุกวิชา
เป็นโรงเรียนแพทย์ที่เปิดเรียนโดยมีอุปกรณ์การเรียนครบโดยไม่ต้องวิ่งขอ เช่น
อาจารย์ใหญ่ โครงกระดูก สไลด์ อย่างโรงเรียนแพทย์ที่สร้างโดยนักแพทยศาสตร์ศึกษา
สิ่งที่เป็นปัญหาคือ อาจารย์ เพราะกองทัพสั่งให้แพทย์ทางคลินิก
คนนี้เป็นหัวหน้าแผนกนี้ คนนั้นเป็นหัวหน้าแผนกนั้น
ท่านผู้นั้นจัดหาอุปกรณ์การเรียนได้ แต่มีปัญหาความชำนาญในการสอน
กรมแพทย์ทหารบกจึงขอให้ศิริราชไปช่วยสอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจัดตารางสอนให้ใกล้กัน
ทางทหารจัดรถรับส่งอาจารย์ตลอดวัน
บางวิชาที่มีการปฏิบัติการที่ต้องจัดสอนที่ศิริราชทางทหารก็จัดรถรับส่งนักเรียนมาเรียนที่ศิริราช
นอกจากนั้นวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ายังเชิญอาจารย์ที่เกษียณแล้วไปช่วยสอน
และรับนักวิทยาศาสตร์ปริญญาโทและเอกเข้ามาเป็นอาจารย์ปรีคลินิกทุกวิชา
290 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
นักศึกษาแพทย์ระยะแรกเรียนเหมือนนักเรียนแพทย์ศิริราช แต่ได้เรียนวิชาทหารและวิชาแพทย์ทหารเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าผลิตแพทย์มากขึ้น และผลิตแพทย์หญิงด้วย นอกจากบรรจุเป็นแพทย์ทหารแล้ว ยังเข้ารับราชการที่กระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย
11. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน)
คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2528 โดยประกาศนโยบายว่า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ยึดนโยบายประหยัด โดยนำทรัพยากรของชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อตั้งโดยความร่วมมือของสถาบันสองสถาบัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร
เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และปรีคลินิกที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร 3 ปี เรียนคลินิกที่วชิรพยาบาล 3 ปี
พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตั้งศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯที่วิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อเป็นที่เรียนของคณะแพทยศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ทางสาขาแพทย์ที่จะตั้งขึ้นต่อไปในช่วงเวลาใกล้กัน กรุงเทพมหานครตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์อีกโรงหนึ่ง เรียนปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เรียนคลินิกที่วชิรพยาบาลและศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ต่อมาตกลงใช้โรงพยาบาลชลประทานเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และพระพรหมมังคลาจารย์ได้อุปถัมภ์ สร้างศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ให้เป็นที่เรียนคลินิกอีกแห่งหนึ่ง
12. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน)
คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์จะเพิ่มปริมาณแพทย์ให้พอกับคำขวัญ เรื่อง สุขภาพดีถ้วนหน้า พ.ศ. 2543 Health for All by the Year 2000 และเพื่อลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ในการที่นักเรียนไทยไปเรียนแพทย์ในต่างประเทศ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต จะผลิตแพทย์ให้ได้มาตรฐานสูง โดยนักเรียนเสียค่าเล่าเรียนต่ำกว่าเรียนในต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิตได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดการสอนคลินิกที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข
เรียนเตรียมแพทย์ 1 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ปรีคลินิก 2 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยรังสิต
คลินิก 3 ปี ที่โรงพยาบาลราชวิถี
บัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเช่นเดียวกับบัณฑิตแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ
วิทยาลัยแพทย์แห่งนี้รับนักศึกษาชั้นปีที่
1 ปีแรก พ.ศ. 2532
291 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
13. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไปตั้งวิทยาเขตแห่งที่ 2 ที่รังสิต เริ่มโครงการตั้งโรงพยาบาลขึ้นในวิทยาเขตแห่งใหม่นี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 และมีนโยบายจะตั้งคณะแพทยศาสตร์ ณ โรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณของรัฐบาลและการบริจาคของภาคเอกชน โรงพยาบาลเริ่มบริการผู้ป่วยนอกครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
โรงพยาบาลได้รับพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาล ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” เมื่อ พ.ศ. 2531
การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์ที่เคยเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อจัดหลักสูตร
หลักสูตรแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเรียนคลินิกผสมผสานกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ระยะที่สองเรียนคลินิก ระยะแรกแบ่งหน่วยการเรียนเป็น 15 หน่วย
ในระยะแรก รับนักศึกษาจากผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ภายหลังได้รับนักศึกษาจากผู้ที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ โดยในระยะแรกของการก่อตั้ง ได้จัดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบ 100% Problem - based learning และ 0% Lectures ตามแนวทางการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแผนใหม่ โดยมีช่วงเวลาที่ให้นักศึกษาได้เพิ่มเติมความรู้โดยตนเองเป็นผู้กำกับ (Self - directed learning) ภายหลังได้มีการปรับสัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ 80% Problem - based learning และ 20% Lectures หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันคือ หลักสูตรปีพุทธศักราช 2552 โดยในระดับปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 2 - 3) มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Hybrid Problem - based Learning (Hybrid PBL) คือมีการเรียนการสอนแบบบรรยาย ประกอบกับการใช้โจทย์ปัญหาในกระบวนการกลุ่มย่อยที่อ้างอิงทางคลินิก และในระดับคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6) มีการจัดการเรียนการสอนคล้ายคลึงกับสถาบันอื่น ๆ โดยเน้นการปฏิบัติการทางคลินิกบนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สรุป
หากนับเวลาตั้งจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนปัจจุบันครั้งแรกในประเทศไทย คือ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2433 จนถึง พ.ศ. 2561 ในปัจจุบัน นับเป็นเวลายาวนานถึง 128 ปี มีวิวัฒนาการของโรงเรียนแพทย์ที่เปิดดำเนินการรวมทั้งหมด 21 แห่งในประเทศไทย ได้แก่
1) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
2) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
5) คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
292 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
6) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
7) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
8) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
9) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
10) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
12) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
13) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
14) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
15) วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
16) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
17) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
18) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
19) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
20) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
21) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
22) คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ ได้รวมกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” คือ กลุ่มสถาบันในระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มีหน้าที่จัดการสอบเพื่อรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และมีแพทยสภาเป็นหน่วยงานควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานหลักสูตรวิชาชีพเวชกรรมประเภทต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานสากล การจัดการการศึกษาของแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทยจึงได้เจริญก้าวหน้า สามารถผลิตแพทย์แผนปัจจุบันที่มีคุณภาพสากล ดูแลรักษาประชาชนชาวไทยอย่างทั่วถึง